Boonniyom Communication: Right Media Readme Life
- Close

[HOME]
[ฝั่งฝันเพื่อฟ้าดิน]
[สังคมไทยวิกฤกติ เพราะการศึกษาที่ผิดพลาด]
[thik globally but act locally]
[สื่อมอมเมาคือ message ที่เป็นอสาระของฝ่ายเทพ แต่เป็นสาระ ของฝ่ายมาร]
[ยอมจำนนกับการศึกษาในวังวน]
[เปิดทางสวรรค์]
[บุคคล 4 จำพวก]
[ทำงานกับวงการสื่อมาตลอด]
[แบบจำลองการสื่อสาร กับสิ่งที่ข้าพเจ้าคิด]

[สัจธรรมในการสื่อสารบุญนิยม]
[จากทฤษฎีของ Berlo ถึง Kaviya พัฒนาเป็นทฤษฎีการสื่อสารบุญนิยม]
[การประยุกต์ใช้ระบบการสื่อสาร เพื่อการพัฒนามนุษย์]
[การสื่อสารภายในบุคคล กับการสื่อสารระหว่างบุคคล ในองค์กรบุญนิยม]
[หนังสือธรรมะ คือเจ้าใบ้เสียงดัง]
[ไม่ปฏิเสธทฤษฎีการสื่อสารตะวันตก ยุคการสื่อสารบุญนิยม]

[ทฤษฎีการสื่อสารบุญนิยม]
[มรดกทุนทางสังคม]
[กุญแจ 5 ดอก กลไกของการสื่อสาร]
[ภารกิจและหน้าที่ ของการสื่อสารบุญนิยม]

[ประสบการณ์นิเทศศาสตร์ สู่การสื่อสารเชิงบูรณาการ]
[นิเทศศาสตร์สุนทรีย์]
[ตัวตนของข้าพเจ้า]
[องค์ความรู้บุญนิยม]

email: sudin.expert@yahoo.com
phone: 08-9644-1048


 

สังคมไทยวิกฤติ เพราะการศึกษาที่ผิดพลาด

ข้าพเจ้าได้ดี เพราะข้าพเจ้าพบสื่อสัจจะที่เป็นสื่อมีสาระทางจิตวิญญาณ ความรู้ที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเรียนรู้จากโรงเรียน จากมหาวิทยาลัย สร้างความพึงพอใจให้แก่ข้าพเจ้าได้เพียงเล็กน้อย เพราะความรู้เหล่านั้น ล้วนเป็นความรู้ที่สร้างพันธนาการทั้งความคิดและการกระทำให้แก่คนในสังคม ข้าพเจ้าค่อนข้างจะดูหมิ่นความรู้ด้วยซ้ำไป เพราะเหตุว่า ไม่สอนให้คนคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง ทุกอย่างมีรูปแบบอยู่แล้ว การคิดนอกกรอบ คือคนนอกคอก ทุกอย่างถูกจำกัดอยู่ที่ “เอกภาพของการศึกษา” ก็เมื่อการศึกษาที่ดูหมิ่นศีลธรรม ยกย่องอนาจาร ไม่ได้สร้างคนให้มีอุดมการณ์ ขาดจิตสำนึกสาธารณะ (Common Right for All) การแสวงหาของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุด

ข้าพเจ้าแสวงหา ทั้งจากหนังสือ จากสำนักต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่า “หัวก้าวหน้า” ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ หลักวิชาการทางตะวันตกที่มองทุกสรรพสิ่งเป็นวัตถุ เป้าหมายคือความสุขที่ไร้ความสงบ ข้าพเจ้าว่านั่นมันเป็นวิชาการลวงโลก ให้คนมาติดกับดัก แม้แต่ข้าพเจ้าเอง ก็ติดกับดักนี้เช่นกัน และพยายามจะหาทางปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากพันธนาการ จนถึงกับกล่าวว่า โรงเรียนทุกวันนี้ “ตายแล้ว” ด้วยเหตุที่ว่า โรงเรียนคือสถาบันสร้างมนุษย์ให้เป็นหุ่นยนต์ หากแต่เป็นหุ่นยนต์ที่มีชีวิต ควบคุมได้โดยผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต

ข้าพเจ้าค้นพบว่า ไม่มีโรงเรียนแห่งใดที่จะสอนให้ผู้เรียน รู้เท่าทันการมอมเมาผ่านสื่อ หรือสอนให้คนปลอดปล่อยตนเองให้พ้นจากความเป็นทาสทางวัตถุนิยม สมัยนั้นข้าพเจ้ายังเป็นวัยรุ่น การลุ่มหลงเสพวัตถุยังไม่รุนแรง มัวเมาเหมือนอย่างทุกวันนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเลิกทาสให้แก่คนไทยแล้ว แต่คนไทยนั่นแหละ ที่ไม่ยอมปลดปล่อยตนเอง กลายเป็น ทาสผู้ปล่อยไม่ไป มันเป็นวิถีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ คิดดูเถิดว่า ณ ปัจจุบัน เรามีความเป็น ไทย เหลือไว้ให้ชื่นชมสักเท่าไร …จะมีบทเรียนสักบทไหม ที่เปิดโอกาส ให้ผู้เรียนคิดอย่างอิสระ ทำในสิ่งที่เป็นสาระ โดยผู้สอนนั่นแหละต้องเป็นตัวอย่างทีดีให้ดู ยิ่งเป็นจริง มีจริงด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องเกรงว่า จะเกิดความคิดนอกกรอบ หรือทำนอกคอก

อย่าหาว่าข้าพเจ้ามองโลกในแง่ร้ายเลย เพราะการมองโลกในแง่ดีของคนทุกวันนี้ก็คือ มองว่าฉันจะได้อะไร จากใคร แต่ข้าพเจ้าว่าต้องตั้งคำถามใหม่ คือ ฉันจะให้อะไร แก่ใคร นี่ต่างหาก คือการมองโลกในแง่ดี

สังคมวิกฤติ เพราะการศึกษาที่ผิดพลาด ไทยต้องเป็นทาส เพราะไม่มีชาตินิยม
สื่อไร้สัจจะ เสริมราคะทุกข์ระทม สาระบูดระบม เป็นบ่อบ่มอารมณ์พาล

อำนาจที่ไร้ธรรม โถมทารุณถึงฟ้าดิน ศาสตร์ที่ไร้ศิลป์ มุ่งสร้างหัตถ์หื่นประหาร
ศิลปะละทิ้งศีล คือ ศิลปินอนาจาร …

สื่อต่างๆ มิใช่สิ่งเลวร้าย แต่ “คน” เลวร้ายกว่า โดยมีรากเหง้ามาจาก อวิชชา คือความโง่เขลา โดยเฉพาะ ความโง่เขลาที่อยู่ในร่างของ คนผู้มีอำนาจ ผู้มีโอกาส และเป็นความโง่เขลา “อย่างฉลาด เฉโก” นี่ร้ายกาจสาหัสสากรรจ์ที่สุดในสังคมมนุษย์ยุคนี้

ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้….. ท่านคิดอย่างไร
ไม่เป็นปัญหาที่ต้องตอบ
Think Globally but Act Locally

การพัฒนาคนต้องพัฒนาระบบด้วย และต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพราะคนดี ย่อมสร้างระบบดี คนเลว ย่อมสร้างระบบเลว ระบบที่ดี จะส่งเสริมให้คนดีทำดีได้สะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันก็ป้องปรามคนเลว มิให้ทำเลว หรือทำเลวได้ยากขึ้น ส่วนระบบเลว จะกีดกันคนดีให้มีโอกาสทำดียาก ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมให้คนเลว ทำเลวได้ง่ายและทำเลวได้มากขึ้น

และจะเลวร้ายยิ่งขึ้น ถ้าเปิดโอกาสให้คนเลวและระบบที่เลวใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เป็น ศาสตรา คอยประหัตหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือมอมเมา บิดเบือน เพื่อหวังครอบงำผลประโยชน์เพื่อตนและพวก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นภาระหน้าที่ของ “คนดี” โดยเฉพาะคนที่รู้ตัวเองว่า “ดี” และ มีโอกาสทำดีได้ ต้องหันมาเอาภาระ อย่าทำเป็นธุระไม่ใช่ สังคมเลว เพราะคนดีท้อแท้

ดรรชนีวัดค่าของความดี คือ “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ในฐานะเป็นคนที่อยู่กับสื่อ จะต้องแสดงตนอันเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ออกมาให้ประจักษ์ โดยจะแสดงออกในระดับใดก็ได้ คือ กล้าคัดค้าน สิ่งเลว สิ่งมอมเมา เป็นความกล้าระดับที่ 4 กล้าที่จะไม่เสพ ไม่บริโภคสิ่งเลว สิ่งมอมเมา เพื่อยืนยันเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นความกล้าระดับที่ 3 กล้าที่จะไม่เกี่ยวข้อง ไม่ส่งเสริมให้เกิดความเลว การมอมเมาเหล่านั้น เป็นความกล้าระดับที่ 2 จิตปล่อยวางไม่รังเกียจ ไม่คิดอยากเสพอยากบริโภคสิ่งเลว สิ่งมอมเมาเหล่านั้น ตัดขาดจากมันได้แล้วจริง เป็นผลจากการเอาจริงของความกล้าระดับที่ 4 ระดับที่ 3 ระดับที่ 2 จนเป็นความกล้าระดับที่ 1 ซึ่งเป็นยอดอัศวินของนักรบ ที่น่าเชิดชูยกย่องอย่างยิ่งกว่านักรบใดๆ ในพิภพนี้

ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่า การเป็นยอดขุนพลของนักรบวงการสื่อ ข้าพเจ้าขอเรียกว่า นักรบกองทัพธรรม สื่อสารบุญนิยม แม้จะหาได้ยากยิ่ง ก็ควรจะนับเข้าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เพราะนี่คือของจริง ผู้ใดทำได้ ก็ควรยกย่องและเอาอย่าง อย่าเพิ่งไปดูถูกว่า ในโลกนี้จะไม่มีผู้ใดทำได้จริง เพราะนั่นเท่ากับปิดโอกาสตัวเอง ปิดโอกาสในความเป็นมนุษยชาติ และปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าในทุกๆ ศาสนา เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงทำได้แล้ว ทำได้จริง

สิ่งเลว สิ่งมอมเมา ในความหมายที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง คือ คู่ของสัจจะ กับ อสัจจะ ตามลำดับของความหยาบ ความละเอียด และความเนียน สิ่งเลว สิ่งมอมเมา คือฝั่งของอสัจจะ มี 8 คู่ คือ

(1) ดี กับ ชั่ว
(2) ถูก กับ ผิด
(3) ประโยชน์ กับ โทษ
(4) จริง กับ เท็จ
(5) ศิลปะ กับ อนาจาร
(6) ควร กับ ไม่ควร
(7) เที่ยงธรรม กับ เอนเอียง
(8) ความหมด กับ ความเหลือ

สื่อมอมเมา คือ message ที่เป็น อสาระ ของฝ่ายเทพ แต่เป็น สาระ ของฝ่ายมาร

ความดีคือสิ่งที่ถูกต้อง คือหลักสัจธรรม ที่คนปกติรับรู้ได้ (awareness) ดีแต่ผิดไม่มี ถ้ามี ก็เป็นความดีของคนเลว ส่วนคู่ของประโยชน์กับเป็นโทษ สิ่งสัจจะที่ยากขึ้นในการตัดสินใจ เพราะมนุษย์มีระดับความโลภ โกรธ หลง และปัญหาไม่เท่าเทียมกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างการยอมรับ (acceptance) ในความเป็นโทษ หรือเป็นคุณ เพราะแม้สิ่งนั้นจะไม่ดีแต่สมประโยชน์และความโลภ ของตน ก็มองเห็นความเลวเป็นความดี และเห็นความเลวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ก็ได้ คู่ของสัจจะ จริงกับเท็จก็ในทำนองเดียวกัน

ศิลปะ คือ เครื่องชี้วัดมูลค่าของ ความดี ความงาม ความสุนทรีย์ที่มีอยู่ในวัตถุ เสียง กลิ่น รสชาติ ลีลา และอารมณ์ของทุกสรรพสิ่งที่เป็นสังขารธรรม ศิลปะ จึงเป็นสิ่งที่คู่ควร ส่วนอนาจาร เป็นสิ่งที่ไม่คู่ควร แต่ปัจจุบัน ปราชญ์จอมปลอม (ศิลปินที่ไร้ศีลธรรม) นำเอาสิ่งที่เป็นอนาจารมาผสมคลุกเคล้ากลบเกลื่อนปิดบังด้วยภาษาท่าทาง ลีลา อาการ แล้วเรียกว่า ศิลปะเพื่อพาณิชย์ แล้วปลุกเร้ากันขึ้นมาจนเป็นศาสตร์ (ศาสตรา) แขนงหนึ่ง เพื่อทำลายความดี ความงาม และความมีสนุทรีย์ เช่น ภาพเปลือย ที่ใครๆ ดูแล้วก็เกิดราคะกิเลส สะสมลงไปในจิตมากๆ บ่อยๆ จนชาชิน และหลงผิดไปว่านี่คือศิลปะ ตามหลักจิตวิทยาแล้ว การปกปิดบางส่วนเปิดเผยบางส่วน เป็นการเร้าความสนใจที่มีประสิทธิผลในการสร้างแรงจูงใจ สังคมใดก็ตามส่งเสริมกิเลส ราคะมากๆ อาชญากรรมต่างๆ ก็จะตามมา

ขอบเขตการตัดสินใจ (decision) ว่าอะไรคือศิลปะ อะไรคือ อนาจาร ให้ดูที่ผลที่เกิดขึ้นทางจิต ไม่ว่าอะไรก็ตามที่สื่อออกไปแล้ว (สิ่งสัมผัสภายนอกทั้งหลาย หรือ message) ผู้รับสารเกิดจิตโลภะ โทสะ โมหะ สิ่งนั้นคือ อนาจาร จิตราคะ สั่งสมให้เกิดอาชญากรรมการละเมิดทางเพศ จิตโลภะ ทำให้เกิดโจรกรรมและการฆาตกรรม ในทางตรงกันข้าม อะไรก็ตามที่ผู้รับสารดูแล้วหรือเสพเข้าไปแล้ว เกิดความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อสิ่งที่อยู่รอบข้าง นั่นคือ ศิลปะ

ดังนั้น ศิลปะ กับ อนาจาร ในความหมายที่ข้าพเจ้าหมายถึงนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ หรือผู้หญิง ผู้ชายเท่านั้น ตรงนี้เป็น effect ที่นำไปเป็นข้อพิจารณาในการวิเคราะห์ระบบการสื่อสารด้วย โดยเฉพาะการสื่อสารมวลชน เพราะมีผลต่อประชาชนอย่างกว้างขวางในยุคสื่อสารไร้พรหมแดน

เพื่อจะบอกว่า นี่คือความเที่ยงธรรม หรือความเป็นกลางของสื่อ ความเป็นกลางจะต้องเข้าข้างสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรื่องจริยธรรม เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชน และสิ่งที่เป็นศิลปะ การกล่าวว่า ความเป็นกลาง คือ ต้องอยู่เฉยๆ ต้องปิดปาก หรือ ไม่กล่าวไม่ว่าใคร นั่นเป็นการตีความที่ให้ร้ายแก่สังคม ผิดก็ควรติ ถูกก็ควรชมต่างหาก สังคมจึงจะอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้ การตำหนิใครต้องใช้ศิลปะอย่างยิ่ง คือ ต้องทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่า “ดื่มคำตำหนิได้” นั่นต้องอาศัยแรงศรัทธาที่มีต่อผู้พูด แรงศรัทจะเกิดแก่ผู้ใด ผู้นั้นเป็นคนดีระดับที่เขาเชื่อมั่นว่าไม่ใช่ลวงโลก มีความจริง ความถูกต้อง ทำตามที่พูด พูดตามที่ทำ มิใช่พูดตามความอยากของตน

ประเด็นความหมด ความเหลือนั้น เป็นภาวะที่ต้องตรวจสอบด้วยตนเอง เป็นรูปแบบการสื่อสารภายในบุคคล (Intra Communication) เพื่อตรวจสอบว่า ในใจและอารมณ์ความรู้สึก มีความหวั่นไหว เอนเอียง หรือคล้อยตาม (acceptance) สักเท่าไร เมื่อถูกกระทบด้วยสิ่งที่ไม่พึงพอใจ ความเศร้าโศก ความอึดอัดขัดเคือง หรือความหลงใหลในคำชม (โลกธรรมทั้ง 8)

ข้าพเจ้าได้ร้อยเรียงบทบาทของสื่อ เป็นบทกวีง่ายๆ ว่า

สื่อใด ไร้ทาง นำทุกข์ สื่อนั้น คือคุก คุมขัง
มอมเมา เผ่าชน ชิงชัง ล้าหลัง ลืมตื่น หมื่นปี
สื่อใด ให้ทาง พ้นทุกข์ สื่อนั้น นำยุค วสี
ส่องทาง ห่างโลก โลกีย์ สื่อนั้น ชี้ชัด สัทธรรม

(สู่ดิน : พ.ศ.2531)

ยอมจำนนกับการศึกษาในวังวน

ข้าพเจ้ามีโอกาสฟังคำบรรยายจากรองศาสตราจารย์ประชัน วัลลิโก วิชาพื้นฐานการสื่อสาร ท่านอาจารย์มีจิตใจเป็นครูโดยแท้ ตั้งใจสอน เอาใจใส่ผู้เรียนดีมาก มาสอนตรงเวลา ไม่เบื่อแม้ผู้เรียนจะมานั่งฟังเพียงคนเดียว ข้าพเจ้าเคารพท่านมากในฐานะที่ท่านเป็นทั้งครู เป็นทั้งนักการสื่อสารที่รอบรู้ มีวุฒิทางอารมณ์ไม่ถือสาคน ท่านได้ทำหน้าที่ของครูที่ดี ข้าพเจ้าเคยได้ฟังธรรมจากที่ไหนสักแห่ง กล่าวถึงหน้าที่ของครู เหมือนชักของลึกให้ตื้น หงายของที่คว่ำ เปิดของทีปิด บอกทางแก่ผู้หลง ข้าพเจ้าจึงขอเพิ่มอีก 2 ข้อ คือ ทำตามที่พูด พูดตามที่ทำ และ พูดและทำแต่สิ่งที่ดี ถูกต้อง และสิ่งที่เป็นไปได้ ข้าพเจ้ามีนิสัยใฝ่เรียน แต่ยากจนชีวิตจึงลำบาก ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงชีวิตในวัยเด็ก

ข้าพเจ้าเป็นคนจังหวัดพิษณุโลกโดยกำเนิด เป็นลูกชาวนา เคยทำนา เลี้ยงควาย ชีวิตวัยเด็กไม่มีโอกาสได้คลุกคลีกับสื่อใด นอกจากเรียนรู้จากหนังสือแบบเรียน สมัยนั้นโทรทัศน์ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน จะมีก็แต่เพียงวิทยุเท่านั้น หนังสือพิมพ์ก็ยากจะได้เห็น ข้าพเจ้าเป็นบุตรคนที่ 9 ในบรรดาพี่น้อง 9 คน พี่สาวจบประถม 4 เป็นชาวนา ส่วนพี่ชายได้มีโอกาสเรียนแค่ชั้นประถม 5 พ่อก็ให้ออกไปเรียนช่างกล เพื่อจะได้ออกมาช่วยงานโรงนา สมัยนั้นพ่อออกรถไถนา คอยรับจ้างไถนาเป็นหลัก เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ก็ได้อาศัยพี่ชายที่ผ่านการเรียนมาแค่ปีเศษ ก็พอพึ่งพาได้ จะเห็นว่าค่านิยมการบริโภคจากสื่อยังไม่จัดจ้านนัก แต่ก็ยังมีคติที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข และการเป็นเจ้าเป็นเจ้าคนนายคน ถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ส่วนน้องๆ ต่างก็ขวนขวายหาทางเรียนกันเอาเอง ได้เป็นทั้งครู ตำรวจ พยาบาล พนักงานธนาคาร เป็นอันว่าข้าพเจ้ามีพี่น้องครบทุกอาชีพ และทุกคนล้วนถูกครอบงำด้วยระบบบริโภคนิยมทั้งหมด คือ ทุกคนเป็นหนี้จากการกู้แทบทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะสื่อสารต่างๆ ได้ปลูกฝังให้ประชาชนจงรักภักดีกับสถาบันเงินกู้อยู่แล้ว ข้าพเจ้ามิได้กล่าวโทษระบบการสื่อสาร แต่เป็นความโชคร้ายของคนที่เกิดมาในยุคนี้ที่ต้องมารับชะตากรรมร่วมกัน ต้องพึ่งพาสื่อและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โชคดีที่พ่อยังเป็นคนทันสมัย อยากให้ลูกได้เรียนเป็นเจ้าคนนายคน จึงส่งข้าพเจ้าไปเรียนระดับประถมปลายและมัธยมในตัวอำเภอ ชีวิตในวัยเรียนไม่ราบรื่นเพราะพ่อมีลูกมาก ต้องขวนขวายตัวเองในเรื่องการเรียน จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ จึงไปเรียนวิชาครู ได้วุฒิ ป.กศ.สูง สอบเป็นครูไม่ได้อีก จึงเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ได้วุฒิ การศึกษาบัณฑิต วิชาเอกประวัติศาสตร์ วิชาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร) ปรากฏว่า ถนัดวิชาโทมากกว่าวิชาเอก ได้เชื้อสายของนิเทศศาสตร์มาบ้างเล็กน้อย

ข้าพเจ้าเรียนจบปริญญา แต่ไม่เข้าพิธีรับปริญญา เพราะไม่ต้องการรบกวนเวลาของพระเจ้าอยู่หัวเพราะ สาระสำคัญของการศึกษามิใช่อยู่ที่ใบกระดาษเพียงแผ่นเดียว ข้าพเจ้าคิดว่ายังได้รับความรู้ไม่เพียงพอที่เป็นแก่นสาร เรียนตามๆ กันไป ข้าพเจ้าร่วมกิจกรรมนิสิต ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิต (พ.ศ.2523) เพื่อนของข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนิสิต สมัยนั้น มศว. มี 8 วิทยาเขต ผู้แทนจากวิทยาเขตได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เรียนรู้สังคม ขึ้นเวทีวิเคราะห์วิพากษ์สังคม และระบบราชการ เคยเข้าร่วมชมรมอาสาพัฒนา เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน น่าเสียดาย ที่กิจกรรมเกี่ยวกับสังคมของมหาวิทยาลัยใน
ปัจจุบัน กำลังถูกละเลย นักศึกษาจึงไม่รู้คุณค่าและไม่มีอุดมการณ์ทางสังคม เมื่อพวกเขาไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเสียสละ ทำงานร่วมกับชุมชน จะให้พวกเขามีแนวคิดเกี่ยวกับชุมชน รักท้องถิ่น จึงเป็นไปได้ยาก ชีวิตในวัยเรียนของพวกเขากลับถูกรุมเร้าด้วยสื่อสารต่างๆ ให้ลุ่มหลงกับวัตถุนิยมอย่างเมามัน

เมื่อปี 2533 ข้าพเจ้ายังเป็นครูสอนเด็กประถมศึกษา ได้ประพันธ์บทอนุสรณ์ไว้ตอนที่พวกเขาเรียนจบประถมหก ซึ่งสะท้อนสังคมให้เขาจิตสำนึกในชุมชน ไว้ดังนี้

หกปี เล่าเรียน หมั่นเพียร เวียนฝึก
ถูกผิด สำนึก ถูกทำ ผิดทิ้ง
ความรู้ มากมาย หาได้ หลายสิ่ง
จากเพื่อน ชายหญิง มิตรดี สหายดี

อีกใน ตำรา ค้นคว้า ไม่หนี
คงพบ คัมภีร์ สิ่งที่ ต้องใจ
ครูคือ ผู้ชี้ สิ่งที่ สงสัย
เพื่อได้ คลายใจ สิ่งที่ พานพบ

ความรู้ โลกีย์ ไม่มี ที่จบ
ยิ่งรู้ ยิ่งโลภ กอบโกย กักตุน
ไม่รู้ หยุดอยาก ยิ่งยาก หัวหมุน
แย่งชิง ชุลมุน ทารุณ ไร้ใจ

รู้ซับ รู้ซ้อน ยอกย้อน เฉิดฉาย
รู้เลี่ยง เบี่ยงกาย เอาเปรียบ ผู้คน
ฉลาด เฉโก ดูโก้ น่าฉงน
อวดรู้ ข่มจน คนไม่ รู้ทัน

หลงเชื่อ ระบบ ยอมสยบ น่าขัน
ให้เรา เมามัน แข่งขัน น่าอาย
เหมือนถูก ปั่นหัว คนชั่ว มั่นหมาย
ให้มั่ว อบาย คนขาย ร่ำรวย

หลงสูบ ดื่มเสพ แสนเจ็บ ไม่หาย
ทรัพย์สิน หมดไป เพราะเชื่อ นายทุน
โฆษณา ล่อหลอก ย้อนยอก หัวหมุน
น่ามี น่าลุ้น ว่าสวย ว่างาม

ให้คน บำเรอ ฟุ้งเฟ้อ เห่อหาม
เลียนแบบ อย่างตาม แฟชั่น สังคัง
สังคม แสนเซ็ง อวดเบ่ง มนต์ขลัง
อำนาจ พลัง ของผู้ยิ่งใหญ่

ก่อนนี้ ชาวนา พากัน หว่านไถ
ด้วยเพียง วัวควาย ผักปลา ได้กิน
เพื่อบ้าน ได้พึ่ง ไร้ซึ่ง หนี้สิน
ป่าไม้ น้ำดิน ชุ่มชื่น โสภา

ไม่ช้า ไม่นาน ชาวบ้าน ผวา
“ท่าน” สั่ง ลงมา “ปลูกพืชเศรษฐกิจ”
ข้าวโพด ถั่วมัน ปลูกกัน ไม่ผิด
ตามแผน พิชิต “กินดี อยู่ดี”

เลี้ยงปลา นาปรัง หวังเป็น เศรษฐี
สินเชื่อ ก็มี กู้ได้ ง่ายดาย
เร่งรุก บุกป่า ผืนนา ขยาย
กู้เงินมาก มาย ไม่กลัว ขาดทุน

ฝนฟ้า วิปลาศ ธรรมชาติ เฉียวฉุน
ขาดความ สมดุลย์ เพราะคน ทำลาย
ผลผลิต ตกต่ำ หนำซ้ำ เมื่อขาย
แสนถูก เหลือใจ ไม่คุ้ม ดอกเบี้ย

ครอบครัว ยากจน ทุกคน สูญเสีย
อิสระ อ่อนเปลี้ย ทำได้ ขายหมด
ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าไฟฟ้า จ่ายสด
ค่าเรียน ค่ารถ นานา สารพัน

ค่าเหล้า ค่าหวย ค่ามวย ลงขัน
ค่าไพ่ ค่าพนัน บุหรี่ หนังละคร
โอหนอ โลกีย์ โลกนี้ หลอกหลอน
ให้คน วิ่งจร จับจด รสลวง

ช่างไร้ สาระ สัจจะ แดนสรวง
กอบโกย ตักตวง เพราะไม่ รู้พอ
จึงถูก หลอกง่าย หลายใจ จริงหนอ
ไม่เชื่อ แม่พ่อ พระพุทธองค์

ท่านสอน ให้ละ โลภะ โกรธ หลง
ศีลตบะ ธุดงค์ ทุกวัย ทุกเพศ
ธรรมใด ใครสอน ให้ถอน กิเลส
ทุกที่ ถิ่นเทศ คือกฎ พุทธองค์

งดเว้น เข่นฆ่า เมตตา ประสงค์
ให้ชน ดำรง รักสิ่งแวดล้อม
แม้ดิน น้ำ ฟ้า สัตว์ป่า พืชผอง
เราต้อง ปรองดอง เมตตา อภัย

ทำการเกษตร ก็เกษตร ทันสมัย
หญ้าฟาง ถนอมไว้ ปล่อยให้ คลุมดิน
ไม่เผา ทำลาย กลายเป็น ทรัพย์สิน
ชุ่มชื้น ธานินทร์ เป็นปุ๋ยไม่ช้า

หยุดเถิด เทิดธรรม หยุดตาม ตัณหา
หยุดชีวิต ผลาญพร่า หยุดฆ่า เบียดเบียน
กินน้อย ใช้น้อย ค่อยค่อย ปรับเปลี่ยน
ขยัน หมั่นเพียร เอื้อเฟื้อ เจือจาน

ที่สุดชีวิต ไม่คิดเผาผลาญ
ไม่นานคืนวัน สุขสันต์สวัสดี.

 

ปี 2544 ข้าพเจ้าได้ลาออกจากราชการ มาทำงานอยู่กับองค์กรบุญนิยม ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายเป็น อาจารย์ 2 ระดับ 7 ละทิ้งงานและเงินเดือน เพราะเห็นว่าการศึกษาภาคบังคับล้มเหลวมาตลอด เพราะไม่ได้สร้างคนให้เป็นผู้เจริญ แต่กลับครอบงำคนให้เห็นแก่ตัวจัดมากยิ่งขึ้น การได้เปรียบคือความฉลาด การเสียเปรียบคือความโง่ ยิ่งเรียนไป ยิ่งเห็นแก่ตัว สื่อที่มีอยู่รอบตัว ต่างก็เร่งเร้าให้นิยมในลัทธิบริโภคนิยม กินมาๆ ใช้มากๆ เบียดเบียนทรัพยากรของโลก เบียดเบียนตนเอง และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ปัญหาสังคมก็ยิ่งมัดแน่นยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าออกมาทำงานการกุศลเป็นอาสาสมัครบุญนิยม (VBO ย่อมาจาก Volunteer Boonniyom Organizer) อยู่ 3 ปี จนกระทั่งขอลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกริก ด้วยตั้งใจว่าจะทำงานด้านสื่อสารมวลชนต่อไป แต่เป็นการสื่อสารบุญนิยม ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อจะนำเสนอว่า การสื่อสารบุญนิยม คือสื่อสาระ ที่สื่อสัจชีวิตของคนในระบบบุญนิยม (Boonniyom Communication: Right Medium Readme Life) โดยผ่านงานเขียนข้าพเจ้า

เปิดทางสวรรค์

ทหารไม่ออกรบ ก็ไร้ความหมาย ….. นักปฏิบัติธรรม ไม่มีศีล ก็ไร้ค่า

ข้าพเจ้ากล้าบอกแก่คนรอบๆ ข้างว่า เป็นนักปฏิบัติธรรม ถือศีล 5 ละเลิก อบายมุข เป็นนักมังสวิรัติมาตั้งแต่พบธรรมะแนวอโศก ตั้งแต่ปี 2529 ข้าพเจ้าแสวงหาความจริง ของจริงแม้จะมีปริมาณน้อย แต่ก็ขึ้นชื่อว่า ของจริง ไม่ลวงโลก ค่าขอมันอยู่ที่ความจริง จริงเสียยิ่งกว่า ของเก๊แม้จะมากด้วยปริมาณเท่าใด ก็ยังไม่ใช่ของจริง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าแนวอโศก สั่งสอนโดยสมณะโพธิรักษ์ นับว่าถูกกับจริตของข้าพเจ้า ด้วยเหตุที่ว่า สอนให้เป็นคนกินน้อย ใช้น้อย มัธยัสถ์ แต่ขยัน ทำงานให้มาก จะได้เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นจริงๆ ไม่เสแสร้ง เป็นธรรมะสร้างคน มิใช่การสังคมสงเคราะห์ การสร้างคนกับการสังคมสงเคราะห์นั้นต่างกัน การสร้างคน ต้องทำคนให้เป็นคนที่พึ่งตนเองให้ได้ก่อน แล้วจึงเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ แต่การสังคมสงเคราะห์ คือทำคนให้พึ่งแต่ผู้อื่น ไม่พึ่งตนเอง โดยแลกกับคำสรรเสริญ

ถ้าในโลกนี้ มีสังคมอยู่ 3 ประเภท ประเภทที่ 1 ประกอบด้วยฝ่ายให้ กับฝ่ายเอา โลกก็ยังดำเนินอยู่ต่อไปได้ แม้จะเสียสมดุลไปบ้าง ประเภทที่ 2 ประกอบด้วยฝ่ายเอา กับฝ่ายเอา คิดดูเถิดว่า ทรัพยากรในโลกจะมีให้เหลือเพียงพอให้คนทั้งสองกลุ่มบริโภคหรือไม่ รังแต่จะเบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน เดือดร้อนแน่ๆ (สังคมกลียุค) ประเภทที่ 3 ประกอบด้วยฝ่ายให้ กับฝ่ายให้ (สังคมพุทธยูโธเปีย หรือยุคพระศรีอาริยเมตไตรย) ท่านจะเลือกอยู่สังคมแบบใด

สังคมที่เต็มไปด้วยคนที่เป็นฝ่ายเอากับฝ่ายเอา จะมุ่ง “เสพ” มากกว่า “สร้าง” สักวันทรัพยากรก็ต้องหมดไป มหาตมะคานธี ปรัชญาเมธีชาวตะวันออก กล่าวว่า ทรัพยากรในโลก มีไม่เพียงพอสำหรับคนขี้โลภเพียงคนเดียว เห็นท่าจะจริง ข้าพเจ้านึกว่า เห็นคราวนี้ต้องร่วมกับเหล่านักรบกองทัพธรรมสักชาติ เพื่อสร้างสังคมที่มีฝ่ายให้แทรกขึ้นมาในท่ามกลางกลียุคนี้ คงไม่มีใครริษยาข้าพเจ้าแน่ถ้าทำได้ แต่รู้สึกหมั่นไส้นั้นอาจมี และว่าข้าพเจ้าเพ้อไปเสียแล้ว เพราะข้าพเจ้ารู้ดีว่า สิ่งที่เป็นสาระสัจจะนั้น ลึกซึ้ง (คัมภีรา) คนทั่วไปเห็นได้ยาก (ทุททสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบ (สันตา) ประณีต (ปณีตา) จะคาดคะเนเอาไม่ได้ (อตักกาวจรา) ละเอียด (นิปุณา) รู้ได้เฉพาะบัณฑิต (ปัณฑิตเวทนียา) พระพุทธองค์ประกาศศาสนามิใช่เพื่อตัวเพื่อตน หรือเพื่อสมาคมใด หรือเพื่อองค์กรใด แต่หลักธรรมทั้งหลายที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อประโยชน์แก่มหาชน (พหุชนหิตายะ) เพื่อความสุขของมหาชน (พหุชนหิตายะ) เพื่อเกื้อกูลโลก (โลกานุกัมปายะ) สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ

กล่าวว่า ในโลกนี้มีพฤติกรรมการ “ให้” อยู่ 3 ระดับ คือ การให้ระดับที่สาม ให้เพื่อเอา คือการซื้อขายแลกเปลี่ยน การจ้างงาน แม้กระทั่งการลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้แทนต่างป่าวประกาศว่า เขาจะเสียสละเป็นผู้ให้ แท้ที่จริงเขาเป็นคนให้เพื่อเอา แลกคะแนนเสียงด้วยเงิน และเงินเดือนตั้งมากมายสูงกว่าเงินรายได้ของชาวบ้านตั้งหลายร้อยเท่า นั่นคือให้เพื่อเอานับเป็นการให้ที่อยู่ในระดับต่ำสุด การให้ระดับที่สอง ให้เพื่อได้ คือการให้แต่ได้สิ่งที่มิใช่ตัวเงิน แต่เป็นชื่อเสียง เกียรติ ความเชื่อถือ ตลอดจน ยศ ตำแหน่ง คำสรรเสริญ เช่น ตำแหน่งครูบาอาจารย์ เป็นผู้ให้ประเภทที่สอง ก็ดีขึ้นมาอีกนิด ส่วนการให้ระดับที่หนึ่ง สุดยอดของการให้ที่สูงค่า คือการให้เพื่อให้ ได้แก่การให้ของผู้เป็นพ่อแม่ให้แก่ลูก การให้ของพระสงฆ์ ที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแม้คำยกย่อง สรรเสริญ บางท่านอาจเถียงว่าไม่จริง เพราะพัดยศยังเป็นที่ปรารถนาของพระ นั่นเป็นประเด็นที่ให้ท่านผู้อ่านคิดเอาเองว่า เป็นการให้ประเภทที่หนึ่ง หรือไม่จงช่วยกันวิเคราะห์

ข้าพเจ้าทำงานกับองค์กรบุญนิยม หลายตำแหน่ง โดยไม่ถือสาว่าจะเป็นต่ำต้อยแต่อย่างใด แต่กลับรู้สึกภูมิใจที่ข้าพเจ้าทำได้ ทำได้กว่าอีกหลายๆ คน คนในโลกเขาแข่งความร่ำรวย ยศ เงิน อำนาจ แต่ไม่มีใครแข่ง “จน” ข้าพเจ้าหันมาเป็นคนจน แต่จนอย่างฉลาด ไม่ใช่จนอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก จนที่พึ่งตนเองให้ได้ แม้ยามยุคเข็ญ ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าข้าพเจ้าอยู่ได้ อยู่รอดได้ ถือว่าเป็นคนของประชาชน เป็นผู้แทนของประชาชนโดยแท้ โดยไม่ต้องให้ใครมาเลือก แต่เป็นโดยธรรม คือ เป็นตัวอย่างที่ดี “ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” คือความจริงที่ท่านโพธิรักษ์สอนไว้ และข้าพเจ้าเชื่อว่า คือของจริง

นับแต่เป็นครูสอนนักเรียนสัมมาสิกขา ให้แก่นักเรียนในชุมชนศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ อยู่ประมาณปีเศษ ช่วยงานสอนหนังสือ ทำหลักสูตรสัมมาสิกขา เป็นวิทยากรอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ให้แก่เกษตรกรในเขตภาคเหนือและภาคกลาง เป็นโครงการร่วมระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สถาบันเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท จำเนียร สารนาค (สจส.) และ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) ตั้งแต่ปี 2544 ข้าพเจ้าทำงานสังกัด คกร. ตำแหน่งกรรมการฝ่ายสารสนเทศ จนปลายปี 2545 จึงได้ย้ายมาประจำที่สำนักงานกลาง ตั้งอยู่ที่ ตึกฟ้าอภัย ถ.นวมินทร์ ซอย 44 (เทียมพร) แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ

มีคุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ อดีต สส.กทม. พรรคพลังธรรม เป็นประธาน คกร. ท่านทุ่มเทชีวิตและเวลาให้กับงาน คกร. อย่างไม่เบื่อหน่ายแต่อย่างใด จนข้าพเจ้าให้ความเคารพและศรัทธาท่านเสมอมา เวลานั้น ข้าพเจ้าช่วยงานด้านบันทึกข้อมูลข่าวสารและคอยประสานงานกับองค์กรภาคี ต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย, ศตจ. เป็นต้น พร้อมกับเก็บข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ไปด้วย หน้าที่ที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบโดยตรงคือ เป็นเว็บมาสเตอร์ให้แก่เครือข่ายชุมชนชาวอโศก http://www.asoke.info (ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าลาศึกษาต่อ ได้ถวายงานให้สมณะทำแทนไปก่อนจะกว่าจะศึกษาจบ) ต่อมาองค์กรบุญนิยมได้ขยายข่ายงานออกไปตามปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น และสถาบันบุญนิยมก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมบุญนิยม ข้าพเจ้าเป็นกรรมการฝ่ายสื่อสารบุญนิยมชุดแรก

โลกใบนี้ มีสองขั้ว คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แต่ก็ไม่มีใครไปอยู่ เหมือนกับคนที่ทำอะไรสุดโต่งสุดขั้วก็ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย ในทางสัจธรรมก็มีขั้วโลกอีกสองขั้วเช่นกัน คือ ขั้วที่ยึดความสุข เสพสมอยาก หรือโลกียสุข (กามสุขัลลิกานุโยค) กับขั้วที่ยึดอัตตา ไม่ยุ่งกับใคร (อัตตกิลมถานุโยค) และไม่ให้ใครมายุ่ง เป็นฤาษีตาบอดอยู่ตามป่าเขา (นั่งหลับตาบริกัมม์) หรือเป็นฤาษีตาไฟอยู่ตามวัดในเมือง (นั่งหลับตาปั้นรูปในใจ) สุขหนอตอนหลับ แต่พอลืมตาเห็นภาพบาดใจ ขัดตา ก็โกรธจนตาลุกวาวเอาง่ายๆ พวกหนึ่งนัวเนียอยู่กับโลก อีกพวกหนึ่งหนีโลก แต่รู้สึกว่าพวกนัวเนียอยู่กับโลกจะมีปริมาณมากกว่าหลายพันเท่า ขั้วโลกีย์มีแต่สุขหลอกๆ ส่วนขั้วอัตตามีแต่สุขเลือนๆ ลางๆ มัวๆ เบร์อๆ ข้าพเจ้าเลือกทางสายกลาง เมื่อหันมาเรียนรู้ตนเอง มาปฏิบัติธรรมตามวิถีทางที่ข้าพเจ้าว่าดีแล้ว ลดการบำเรอตัวเอง มาเป็นคนจนที่ไม่จนปัญญาให้ดูเป็นตัวอย่าง กิเลสโลภ โกรธ ลดลง ก็เอาเวลา แรงงานที่เหลือส่วนหนึ่งไปเป็นอาสมัครบุญนิยม เพื่อทดแทนบุญคุณที่ธรรมชาติให้อากาศหายใจ ให้มีแผ่นดินไว้เดิน ให้แสงสว่าง นี่คือทางสายกลางที่ข้าพเจ้ารู้จัก

 

บุคคล 4 จำพวก

ข้าพเจ้าจึงแบ่งคนในโลกออกเป็น 4 จำพวก คือ

(1) พวกเป็นหนี้โลก หมายถึง พวกที่เกิดมาแล้วเอาแต่ “เสพ” (บริโภคนิยม) มากกว่า “สร้าง” (บุญนิยม) เห็นว่าทุกอย่างบนโลก เช่น แสงแดด พื้นดิน น้ำ อากาศ เป็นของฟรี จึงหยิบฉวยกักตุนเบียดเบียนเอามาเป็นของตน ซึ่งความจริงเป็นของธรรมชาติแท้ๆ กลับเป็นฝ่ายทำลายทุกวัน ก็เป็นหนี้ธรรมชาติ แต่คนทั่วไปมองไม่เห็น โลกจึงเต็มไปด้วยคนหมู่นี้มากที่สุด ความรักที่มีจึงเพื่อตัวเองมากกว่าจะนึกถือผู้อื่น

(2) พวกหนีโลก หมายถึง พวกสุดโต่งอีกทาง อาจเป็นเพราะผิดหวังในสังคม หรือหาทางออกที่ผิดๆ ให้แก่ตนเอง เพื่อหวังสบาย จึงหนีไปเสียให้พ้นๆ ด้วยการหนีไปนั่งบทำสมาธิอยู่ตามป่า ถ้ำ หรือถ้าหนีไปไม่ได้เพราะถูกความอยากมัดขา ก็หันเข้าหาวัดปลีกวิเวก นั่งสมาธิหลับตา กดข่ม แล้วหลงเข้าใจว่าคือสวรรค์-นิพพาน พอลืมตาสัมผัสกับเหยื่อ (ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกยีสุข) ก็ตกเป็นเหยื่อเสียเอง ถูกอบายมุขกลุ้มรุมทำร้าย ก็ยิ่งทุกข์หนักเข้าอีกเลยเข็ดหลาบโลกนี้ ตายหนีโลกดีกว่า อย่างนี้ก็มี คนไทยเริ่มให้ความสนใจในการฆ่าตัวตายกันมากขึ้น ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ น่าหดหู่จริงๆ สื่อสารมวลชนเองก็เผยแพร่ข่าวประเภทนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ นับเป็นผลร้าย ตามทฤษฎี Socialization Theory กล่าวไว้ว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันตัวแทนทางสังคม (Agency of Socialization Learning) ที่มีอิทธิพลให้ผู้รับสารเชื่อถือ คล้อยตาม ได้ง่าย ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่า “สื่อ” เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความจริง สื่อ มีสถานภาพเป็นกลาง (อัพยากฤตธรรม) ใช้ไปในทางดีก็ได้ ใช้ในทางเลวก็ได้ แล้วแต่ผู้กำหนดหรือผู้ส่งสาร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและโอากาสอยู่ในมือ พร้อมที่สร้าง สาร (message) ต่างๆ ขึ้นมามอมเมาหลอกล่อผู้คน

(3) พวกเหนือโลก คือกลุ่มคนที่รู้สัจชีวิตดีว่า ชีวิตคนเราไม่เที่ยงแท้ สัจจะของวัตถุ สัจจะของสรรพสิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนกันหมด คือความไม่เที่ยง เมื่อรู้ความจริงข้อนี้ จะมัวเสียเวลาเปล่ากับการแย่งชิง เอาเปรียบซึ่งกันและกันอยู่ทำไม ขอขอบคุณพระเจ้า (ธรรมชาติ) ที่ให้ชีวิตอยู่รอดทำความดี ก็น่าจะดีใจแล้ว กลุ่มคนพวกนี้จะยึดเอา “ความเสียสละ” เป็นแรงจูงใจในการทำความดี เรียกพฤติกรรมการเสียสละนี้ว่า “บุญนิยม” พวกเหนือโลก แม้จะมีปริมาณน้อย เทียบปริมาณไม่ได้เลยกับคนกลุ่มอื่น แต่อีก 500 ปีข้างหน้า อาจพอเทียบเคียงกันได้ หากท่านผู้อ่านอยากจะพิสูจน์ ก็อย่าเพิ่งรีบตาย ช่วยกันเสียสละทำความดีกันมากๆ คงไม่ถึง 500 ปีก็ได้ ก็จะได้เห็นสังคมดี สังคมของคนที่มีแต่ความรัก ความสุขสงบเหนือโลกีย์

(4) พวกเป็นเนื้อนาบุญของโลก สัจจะในโลกนี้มีเพียงสอง คือ สมมุติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ เพื่อทำความดีให้ครบสมบูรณ์ จึงออกบวช รักษาชีวิตพรหมจรรย์ (พรหมจรรย์ คือ เลิกยุ่งเกี่ยวข้องความเป็นหญิง ชาย) ถือศีล และสั่งสอนธรรม ทำตนเป็นคนชีวิตเรียบง่าย ให้เป็นตัวอย่างแก่คนทั้งหลาย ดุจเนื้อนาบุญของโลก คนกลุ่มนี้ยิ่งมีปริมาณน้อยไปกันใหญ่ แต่คงจะขลังดี จึงมีคนกลุ่มที่หนึ่งแต่งกายสมมุติเหมือนพระผู้เป็นเนื้อนาบุญ ออกไปล่อลวงชาวบ้าน เป็นหน้าที่ของสื่อที่ควรช่วยกันจับตามอง อย่าให้พระปลอมกลายเป็นพระจริง ในฐานะสื่อมวลชน รู้หน้าที่ดีแล้ว จงรีบทำเสียเถอะ….โยม.

ทำงานกับวงการสื่อสารมาตลอด

องค์กรบุญนิยม ได้แบ่งสายงานการบริหาร ออกเป็น 11 ด้าน คือ (1) องค์กรด้านมูลนิธิและสมาคมของชาวอโศก (2) องค์กรด้านการเมืองบุญนิยม (3) องค์กรด้านพาณิชย์บุญนิยม (4) องค์กรด้านกสิกรรมบุญนิยม (5) องค์กรด้านการศึกษาบุญ นิยม (6) องค์กรด้านบริโภคบุญนิยม (7) องค์กรด้านสุขภาพบุญนิยม (8) องค์กรด้านอุตสาหกิจบุญนิยม (9) องค์กรด้านสื่อสารบุญนิยม (10) องค์กรด้านการเงินการคลังบุญนิยม (11) องค์กรด้านศิลปะและวัฒนธรรมบุญนิยม

องค์กรด้านสื่อสารบุญนิยม จึงเป็นส่วนงานที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องสืบสานต่อ เพราะไม่ว่าองค์กรด้านใดย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสื่อด้วยกันแทบทั้งสิ้น ข้าพเจ้าหวังไว้ว่า จะทำงานด้านวิจัยการสื่อสารบุญนิยมไปจนกว่าจะตาย

“บุญนิยม” หมายถึงอะไร ข้าพเจ้าได้เอ่ยคำนี้มาตลอด บางท่านอาจสงสัยว่า อะไรอะไรก็บุญนิยม อย่าเพิ่งหมั่นไส้ ประเดี๋ยวจะอธิบาย บอกนิยาม กันตอนนี้นี่แหละ

"บุญนิยม" หมายถึง แบบแผนหรือวิถีชีวิต ของบุคคล ชุมชน และสังคม และหมายถึง ระบบ แนวคิด หลักปฏิบัติ รูปแบบ ทั้งในด้านศาสนา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ที่มีทิศทาง และเป้าหมาย จากการลด ละ กิเลส ตัณหา อัตตา ทุกระดับ ไปสู่ความมักน้อย สันโดษ ขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ สร้างสรร โดยมีรูปธรรมที่ชัดเจน ได้แก่ เลี้ยงง่าย (สุภระ) บำรุงง่าย (สุโปสะ) มักน้อย (อัปปิจฉะ) ใจพอ สันโดษ (สันตุฎฐิ) ขัดเกลา (สัลเลขะ) มีศีลเคร่ง (ธูตะ) มีอาการที่น่าเลื่อมใส (ปสาทิกะ) ไม่สะสม (อปจยะ) ยอดขยัน (วิริยารัมภะ)

ส่วนคำว่า "สาธารณโภคี" หมายถึง แบบแผนหรือวิถีชีวิต การบริหารจัดการ บุคคล กลุ่ม องค์กร ให้มีคุณลักษณะพึ่งตนเองได้ สร้างสรร ขยัน อดทน ไม่เอาเปรียบใคร ตั้งใจเสียสละ จนเกิดความสามารถ และความเต็มใจในการทำงานฟรี ปลอดหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย และเฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาว่า การได้มาคือ บาป การเสียสละคือ บุญ สาธารณโภคี เป็นคำที่ให้ความหมายเสริมหนุนลักษณะกายภาพของบุญนิยมให้ชัดเจนขึ้น

"ญาติธรรม" หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศก เป็นสมาชิกสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม และมีหลักคุณธรรมสำคัญ 13 ประการ ต่อไปนี้

1. มีปกติรักษาศีล 5

2. มีปกติเว้นขาดจากอบายมุขทุกชนิด

3. มีปกติในการรับประทานอาหารมังสวิรัติ

4. มีปกติในการเข้าร่วมประชุมของหมู่กลุ่มเสมอ

5. มีปกติแจ้งลา ถ้าไปประชุมไม่ได้

6. มีปกติสละเวลา – แรงงาน – ทรัพย์สิ่งของ ช่วยเหลือหมู่กลุ่ม

7. มีปกติไปพุทธสถานและร่วมงานสำคัญของชาวอโศก

8. มีปกติกินอยู่ หลับนอน เรียบง่าย

9. มีปกติปฏิสันถารก่อน อ่อนน้อมถ่อมตน

10. มีปกติในความมีน้ำใจ

11. มีปกติเอาภาระที่สมควรของตนและของหมู่กลุ่ม

12. มีปกติในความขยัน

13. มีปกติในการทรงสติ สังวรอยู่ทุกเมื่อ

(ข้อกำหนดจากที่ประชุมสงฆ์ชาวอโศก เมื่อราวปี 2522)

ข้าพเจ้าเชื่อว่า หลายท่านคงอุทานว่า โอ้โห! เข้มงวดกันถึงเพียงนี้เชียวหรือ เคร่งเกินไปหรือเปล่า ไม่เป็นทางสายกลายเลยนะ ข้าพเจ้าได้ยินคำนี้มาบ่อยมาก อยากจะอรรถาธิบายว่า ไม่เคร่งเกินไปหรอก เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองที่ ให้คนที่มีคุณสมบัติ “หย่อนยาน” ไปตัดสินคนที่มีคุณสมบัติ “เคร่ง” ว่าไม่เป็นทางสายกลางนั้น ย่อมไม่สมเหตุสมผล ผิดฝาผิดตัว ถ้าข้าพเจ้าจะอ้างบ้างประเดี๋ยวจะหาว่าข้าพเจ้าเฉโก ก็วิถีชีวิตของสมเด็จพ่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านละทิ้งทรัพย์โลกีย์ ถอดรองเท้าทองคำเดินเท้าเปล่า เที่ยวบิณฑบาตขอข้าวชาวบ้านกิน มิเคร่งยิ่งกว่าเคร่งอีกหรือ ทั้งๆ ที่พระองค์ท่านตรัสเสมอว่า ทางนี้แหละคือทางสายกลาง (อริยมรรค คือทางสายกลาง) ซึ่งถ้าศึกษาให้ดีน่าจะหาคำตอบนี้ได้

ในรูปแบบของการสื่อสารบุญนิยม ถือว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติ 13 ข้อ เป็นสื่อบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง และสมควรเอาเป็นตัวอย่าง เพราะหาได้ยาก ทำได้ตามได้ยาก แต่เป็นของจริง

"องค์กรบุญนิยม" หมายถึง กลุ่มญาติธรรมที่มีวิถีชีวิต กิจกรรม การติดต่อสื่อสาร ระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน โดยประกอบด้วยคุณลักษณะ 14 ประการ ดังนี้

1. เป็นสังคมที่เห็นได้ชัดถึงลักษณะของคนมีศีล มีคุณธรรม มีอาริยธรรม

2. เป็นสังคมที่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น

3. มีงานที่เป็นสัมมาอาชีพ มีกิจการเป็นสาระที่มั่นคง

4. ขยัน สร้างสรร ขวนขวาย กระตือรือร้น

5. อยู่กันอย่างผาสุก สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ร่าเริง

6. ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่รุ่งเรือง ฟุ้งเฟื่อง ไม่ผลาญพร่า สุรุ่ยสุร่าย

7. มีความประณีต ประหยัด แต่เอื้อเฟื้อ สะพัดแจกจ่าย

8. ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีอบายมุข ไม่มีทุจริตกรรม

9. มีความพร้อมเพรียง สามัคคี อบอุ่น เป็นเอกภาพ

10. สัมผัสได้ในความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ของความเป็นกลุ่มก้อน ภาราดรภาพ

11. มีความแข็งแรง มั่นคง ยืนหยัด ยั่งยืน

12. เป็นสังคมที่สร้างทุนทางสังคม มีประโยชน์คุณค่าต่อผู้อื่น และสังคมทั่วไปในรอบกว้าง

13. อุดมสมบูรณ์ แต่ไม่สะสม ไม่กักตุน และไม่กอบโกย

14. มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ เสียสละอย่างสุข และเห็นเป็นคุณค่าของคนตามสัจธรรม

(สมณะโพธิรักษ์: 2544)

องค์กรบุญนิยม ถือเป็นสถาบันการสื่อสารมวลชน ของระบบบุญนิยม เพราะเหตุว่า เป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดสาระ และจัดสรรงบประมาณ ช่องทางในการส่งสาระสัจจะไปยังผู้รับสาร ให้ได้รวดเร็วที่สุด และมากที่สุด แก่ญาติธรรม หรือสมาชิกในฐานะผู้รับสาร ซึ่งสาระสัจจดังกล่าวก็คือ ธรรมะ นั่นเอง

"อาสาสมัครบุญนิยม" (Volunteer Booniyom Organizer: VBO) หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมที่สมัครใจทำงานให้กับสถาบัน โดยไม่รับค่าตอบแทน หรือเงินเดือนเป็นของตน ค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีพได้จากเงินกองกลางที่เป็น สาธารณโภคี ของชุมชนหรือหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ นี่ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย เพราะการสร้างอาสาสมัครบุญนิยม ต้องอาศัยเวลา โอกาส การพิสูจน์ และการคัดเลือกกันอย่างอุกฤติทีเดียว กว่าจะได้คนมาทำงานสักคนแสนยาก แต่คนเดียวนั้น มีพลังมากมายเพราะทำด้วยอุดมการณ์ ตามอุดมคติที่อบรมสั่งสอนกันมา จนเป็นประเพณี (“อุดมคติ” คือ สุดยอดแห่งความคิดความวาดหวังไว้ ส่วน “อุดมการณ์” คือ สุดยอดในการกระทำเพื่อไปสู่สุดยอดแห่งความวาดหวังไว้)

จากที่ได้คลุกคลีกับงานสื่อสารบุญนิยมมากว่า 7 ปี (ตั้งแต่ปี 2542) ข้าพเจ้าวิเคราะห์แล้วว่า การสื่อสารในองค์กรบุญนิยม แบ่งสื่อออกเป็น 7 ประเภท คือ

(1) สื่อบุคคล (Person Media) ได้แก่ สมณะ คนวัด ผู้บริหารองค์กร นักปฏิบัติธรรม

(2) สื่อวัตถุ สถานที่ (Material & Place Media) ได้แก่ พุทธสถาน โรงฝึกงาน โรงนา โรงเห็ด โรงปุ๋ย ฯลฯ ใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้มาขอเรียนรู้ด้วย

(3) สื่อกิจกรรม พิธีกรรม (Activity Media) ได้แก่ งานศาสนพิธี งานฝึกอบรม-สัมมนา งานประเพณี

(4) สื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ (Printed Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ "ข่าวอโศกรายปักษ์" วารสาร "สารอโศก" รายเดือน, "แสงสูญ" ราย 4 เดือน, "ดอกหญ้า" ราย 2 เดือน, "เราคิดอะไร" รายปักษ์, "น้ำใจ" รายเดือน, "ดอกบัวน้อย" รายเดือน, หนังสือโครงการชุด หนังสือเล่ม แผ่นพับ ใบปลิว ฯลฯ

(5) สื่อมัลติมีเดีย (Multimedia) ได้แก่ สื่อที่ถูกจัดเก็บในรูปของ ซีดี วีซีดี เท็ปเสียง เท็ปวิดีโอ ไฟล์คอมพิวเตอร์ เช่น เพลง เสียงบรรยายธรรม เสียงประชุมสัมมนา เสียงรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ฯลฯ

(6) สื่อโทรคมนาคม (Mass & tele-Communicaiton Media) ได้แก่ สื่อรายการวิทยุกระจายเสียง (จาก 14 สถานีวิทยุชุมชน) สื่อรายการโทรทัศน์ เว็บไซต์

(7) สื่อปราศรัย (Speech) ได้แก่ ธรรมะภาคเช้า ธรรมะก่อนฉัน ธรรมะภาคบ่าย ธรรมะภาคค่ำ การเสวนาธรรม ตอบปัญหาสด การประชุม-สัมมนา การปราศรัย โดยสื่อบุคคลระดับต่างๆ โดยจะมีการบันเสียง และภาพเป็นสื่อชนิดอื่นไปพร้อมกันด้วย

ในบรรดาสื่อทั้ง 7 ประเภทดังกล่าว ได้จัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ไปตามองค์กร และชุมชนต่างๆ ดังนี้

1. บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด เป็นบริษัทแม่ ในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ของชาวอโศก

2. สำนักพิมพ์กลั่นแก่น เป็นผู้ตีพิมพ์หนังสือธรรม โครงการหนังสือเล่ม หรือหนังสือชุด

3. อินเตอร์เน็ตอโศก เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อ ปี 2542

4. วิทยุชุมชน ของชุมชนต่างๆ เผยแพร่ธรรมะผ่านวิทยุกระจายเสียง

5. โครงการถอดเท็ปธรรมะ เสวนาธรรม คือการนำเท็ปธรรมะที่บันทึกไว้มาถอดเป็นข้อความ เพื่อนำไปเรียบเรียงเป็นหนังสือต่อไป

6. บ้านห้าดาว ทำหน้าที่แจกจ่ายเท็ปธรรมให้แก่ญาติธรรม และประชาชนที่สนใจ ตั้งอยู่ที่ปฐมอโศก

7. ห้องก็อปปี้เท็ป ทำหน้าที่รับเท็ปต้นฉบับที่บันทึกเรียบร้อยแล้วไปคัดลอกต่อเพื่อแจก หรือจำหน่าย แต่ส่วนใหญ่แจกมากกว่า

8. ห้องบันทึกเสียงป้าดติโท้ เป็นห้องบ้นทึกเสียงขนาดใหญ่ของอโศก ตั้งอยู่ที่ปฐมอโศก ตามพุทธสถานต่างๆ ก็มีห้องบันทึกเสียงเช่นกัน แต่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกน้อยกว่า ไม่สมบูรณ์เท่าห้องป้าดติโท่

9. ห้องสื่อธรรมะ เป็นสถานที่เก็บสื่อสาระของธรรมะสำหรับยืม และการค้นคว้า

10. ห้องสมุดสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม อยู่ที่สันติอโศก ความจริงทุกพุทธสถานก็มีห้องสมุด แต่มีหนังสือไม่มากเท่าที่นี่

11. โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ เป็นโรงพิมพ์ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 20 ปี ตีพิมพ์และเผยแพร่ธรรมในรูปของหนังสือแจกเป็นหลัก แต่ของโรงพิมพ์ของ บจก.ฟ้าอภัย จะพิมพ์หนังสือขายเป็นหลัก

12. โรงพิมพ์กองทัพธรรม (ปฐมอโศก) เป็นโรงพิมพ์ที่เกิดพร้อมๆ กับโรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน

13. กลุ่มสุดฝั่งฝัน–สะพานดาว นี่ก็ทำหน้าที่จัดทำต้นฉบับหนังสือเล่ม หนังสือชุด

14. กลุ่มแสงสีเสียงอโศก (สื่อสาระสัจจะ) เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตสื่อมัลติมีเดีย สำนักงานตั้งอยู่ที่ปฐมอโศก มีอุปกรณ์ครบพร้อม เคยสร้างภาพยนตร์มาแล้ว 1 เรื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเทศศาสตร์ของนักเรียนสัมมาสิกขา และนิสิตวังชีวิต

15. ธรรมรูป คือฝ่ายที่จ้ดเก็บภาพถ่ายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลภาพถ่าย มีภาพถ่ายกว่า 30,000 ภาพ โดยเฉพาะในยุคที่ใช้กล้องดิจิตอล ทำให้ปริมาณภาพถ่ายเพิ่มจำนวนปีละหลายกิกกะไบต์

16. ธรรมปฏิกรรม มีสมณะเป็นผู้ทำหน้าที่ตอบจดหมายธรรมะ จากผู้เขียนมาถามปัญหา

17. ธรรมปฏิสัมพันธ์ มีสมณะเป็นผู้ทำหน้าที่เช่นกัน แต่ตอบปัญหาธรรมะทางโทรศัพท์

18. ธรรมปฏิสันถาร ก็มีสมณะเป็นผู้ทำหน้าที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือน คอยตอบปัญหาธรรมะและสนทนาธรรม

19. ธรรมโสต คือฝ่ายที่ทำหน้าที่แจกจ่ายเท็ปธรรมแก่สมาชิกฟังธรรม ที่ขอยืมธรรมะไปฟังที่บ้าน ปัจจุบันแจกธรรมะตามแต่งบประมาณที่ได้รับ เท็ปเริ่มหดหมายไป กลายเป็นซีดีแทน

20. ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นชมรมของผู้ปฏิบัติธรรมที่มีกิจกรรมด้านกสิกรรมธรรมชาติ มีสมาชิกทั้งที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม และบุคคภายนอก ที่มาร่วมเรียนรู้การทำกสิกรรม มีสมณะเสียงศีล ชาตวโร เป็นผู้ดูแล ทำหน้าที่ให้ธรรมะ เป็นกำลังสำคัญของการดำเนินกิจกรรม มีรายการสถานีวิทยุทั้งภาคเอเอ็ม และเอ็ฟเอ็ม กว่า 20 สถานีทั่วประเทศ

21. ชมรมวิทยุสมัครเล่น มีสมณะบินก้าว อิทธิภาโว เป็นผู้ดูคอยควบคุมมาตรฐานการใช้สื่อวิทยุสมัครเล่น สำหรับนักเรียนสัมมาสิกขา และนิสิต มวช. ตลอดจนญาติธรรม ที่ทำหน้าที่เป็น รปภ. ในการจัดงาน กิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีอยู่ตลอดปี นับเป็นงานที่หนักพอสมควร


วิทยุชุมชนบุญนิยม เว็บไซต์เครือข่ายอโศก

ในบรรดาหน่วยงาน 21 หน่วย บางหน่วยงานก็มีอายุกว่า 30 ปี เช่น ธรรมรูป ธรรมปฏิกรรม ธรรมปฏิสัมพันธ์ ธรรมปฏิสันถาร และธรรมโสต (มวลชนสัมพันธ์) ข้าพเจ้ารับผิดชอบดูแลเว็บไซต์

 

ชาวอโศก เริ่มต้นการเผยแพร่ธรรมจาก สื่อบุคคล และสื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ เป็นหลักเสมอ เมื่อเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น จึงได้นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อประกอบการเผยแพร่ ธรรมะ ตอนที่ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติธรรมในช่วงสองสามปีแรก ท่านโพธิรักษ์มองเห็นว่าสื่อภาพยตร์นั้นมีพล้งและแรงจูงใจสูงในการโน้มน้าวจิตใจผู้ดู ท่านมองเห็นประโยชน์ของสื่อประเภทนี้แม้ว่าจะมีส่วนมอมเมาอยู่เยอะ แต่ถ้ากลั่นกรองให้ดีก็มีประโยชน์ไม่น้อย ท่านถึงกับกล่าวว่า การคัดเลือกภาพยนตร์ หรือละคร มาให้นักปฏิบัติธรรมดู หรือคนวัด นักบวชดู เหมือนกับการร่อนทองจากกองขี้ เพื่อจะได้ศึกษาโลก ศึกษาธรรม และเพื่อเป็นเครื่องทดสอบผลการปฏิบัติธรรมด้วย นับว่าท่านมีหลักการของนิเทศศาสตร์อยู่เต็มตัว (เพราะท่านอยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมจนกระทั่งออกบวช ท่านจึงเลิกวงการมายา) คือใช้ภาพยนตร์เป็น feedback ในการปฏิบัติธรรม โดยคัดเลือกภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสาร (message) ที่มีสาระ ถ้าเป็นหนังประเภท หนังโหด หนังฮา หนังบ้าตัณหา หนังกีฬาฆ่าสามัคคี หนังผี หนังพนัน หนังเมามัน หนังพาฝันฟุ้งเฟ้อ หนังเพ้อเจ้อไร้สาระ จะถูกคัดออก

ระยะแรกท่านจะเซ็นเซอร์หนังด้วยตัวเอง ต่อมาได้มอบหมายให้สมณะที่มีอินทรีย์พละสูงเป็นผู้ตรวจหนังก่อน ซึ่งต้องตัดเอาตอนที่ไม่ดีออก ท่านได้วางนโยบายสำคัญในการดูหนังดูละคร คือ หนังที่จะให้ดูคือหนังที่ดูแล้ว

(1) เกิดอาริยญาณ (เห็นทุกข์) เพื่อให้ผู้ดูได้เห็นว่าโลกนี้มีวิบากกรรมเกิดขึ้นจริง ชีวิตของคนมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ที่ดำเนินอยู่ และก็สูญสลายไป เพราะทุกข์แปลว่าไม่เที่ยง การมองโลกในแง่ดีจะต้องมองว่า ทุกคนคือเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น โดยดูจากตัวอย่างในหนัง

(2) ทำการปฏิบัติ คือในระหว่างนั่งดู ก็มีการสู้กับผัสสะไปด้วย โดยใช้เหตุการณ์ และตัวละครในเรื่อง เป็นเครื่องทดสอบอารมณ์ ว่าหวั่นไหวพรือไม่เพียงไรเมื่อกระทบสัมผัสกับเรื่องที่ไม่พอใจ คำเสียดสีต่างๆ ใครเกิดหมั่นไส้ตัวละคร ก็แสดงว่าเกิดจิตที่ไม่ดีแล้ว รีบแก้ไขตนเองในขณะนั้นทันที (ในระหว่างดูจะมีนักบวชมาร่วมกิจกรรม นั่งดูด้วยเพื่อคอยประคับประคองเตือนสติอยู่ตลอดเวลา)

(3) อัดพลังกุศล คือดูแล้วให้ซาบซึ้งในคุณความดีของเหตุการณ์ ของพฤติกรรมตัวละคร

(4) ฝึกฝนโลกะวิทู เพิ่มพหูสูต คือให้รู้เท่าทันโลกกว้าง เห็นไหมว่า นักปฏิบัติธรรมก็จำเป็นต้องรู้สังคม มิใช่หลบไปนั่งหลับ ไม่รับรู้ความเป็นไปของสังคมของโลก ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยตร์ หรือวิดีโอสารคดีโลก สารคดีธรรม

แบบจำลองการสื่อสาร กับสิ่งที่ข้าพเจ้าคิด

ระบบการสื่อสารตามทฤฏีการสื่อสารที่เรียนกันมา ได้อาศัยแบบจำลองการสื่อของนักคิดชาวตะวันตกมาอธิบาย ที่รู้จักกันดีคือ แบบจำลองการสื่อสารของลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell: 1948 CE) ที่อธิบายว่า การสื่อคือกระบวนการตอบคำถามที่ว่า ใคร (who) กล่าวอะไร (say what) ผ่านช่องทางการสื่อสารใด (in which channel) ถึงใคร (to whom) และบังเกิดผลอะไร (with what effect) ต่อมารูปแบบการสื่อสารของลาสเวลล์ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีรายละเอียดแวดล้อมที่ซับซ้อนและมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่ได้รับการอธิบาย และเป็นการสื่อสารแบบเส้นตรงซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ต่อมาอีก 6 ปี ออสกูด และวิลเบอร์ ชแรมม์ (Wilbur Schramm: 1954 CE) จึงได้ออกแบบจำลองการสื่อสารเพิ่มเติม มีลักษณะเป็นวงกลม โดยอธิบายว่าทั้งส่งสารและผู้รับสารทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือการเข้ารหัส (encoding) และการถอดรหัส (decoding) และการตีความ (interpreting)

ต่อมาเพื่อให้รูปแบบการสื่อสารมีความเป็นอมตะยิ่งขึ้น เบอร์โล (David K. Berlo: 1960 CE) จึงได้รวบรวมพลังความคิด ออกแบบส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญของการสื่อการ แบ่งออกเป็น 6 ประการ คือ

(1) แหล่งสาร (Communication Source)

(2) ผู้เข้ารหัส (Encoder)

(3) สาร (Message)

(4) ช่องทางการสื่อสาร (Channel)

(5) ผู้ถอดรหัส (Decoder)

(6) ผู้รับสาร (Communication Reciever)

ซึ่งต่อได้กลายมาเป็นแบบจำลองการสื่อที่ได้รับความยอมรับและเชื่อถือมาจนปัจจุบัน รู้จักกันดีโดยทั่วไปว่า แบบจำลอง SMCR ของเบอร์โล S หมายถึง แหล่งสารและผู้ส่งสาร (source & sender) M หมายถึงสาร (message) C หมายถึง ช่องทางการสื่อสาร (channel) และ R หมายถึง ผู้รับสาร (reciever)

มาถึงจุดนี้ มีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าประการหนึ่งคือ องค์ความรู้ใหม่ได้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า โดยที่ข้าพเจ้าไม่เคยศึกษาทฤษฎีของเบอร์โลมาก่อน แต่ข้าพเจ้าได้ออกแบบจำลองการสื่อสาร ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ คือ

แบบจำลองการสื่อสาร

รูปแบบ ชนิดของสาร

พาหะ - ช่องทาง

เครื่องมือ - เทคโนโลยี

เทคนิค - รูปแบบการส่งสาร

ภาษาพูด
Word, Speech

บรรยากาศ อากาศ วัตถุที่สามารถพาเสียงไปได้

อวัยวะปาก, ไมโครโฟน, โทรโข่ง

Physical, Radiogram, Analog, Digital

ภาษาท่าทาง
Action, Behavior

ทัศนวิสัยของบรรยากาศ

อวัยวะ, อุปกรณ์สร้างสัญลักษณ์

Physical

ภาษาเขียน

Writing

อักขระ อักษร (ที่ผู้ส่งและผู้รับ สามารถรับรู้ร่วมกันได้)

กระดาษ ปากกา หมึก
หรือสี คอมพิวเตอร์

Physical, Analog, Digital

ภาษาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Language)
– Radio
– Analoge
– Digital

คลื่นไฟฟ้า คลื่นแสง คลื่นแม่เหล็ก คลื่นวิทยุ

เครื่องรับ-เครื่องส่ง
วิทยุ วิทยุโทรทัศน์
ระบบอะนาล็อก
ระบบดิจิตอล
คอมพิวเตอร์ และระบบ
เครือข่าย, อินเตอร์เน็ต

Analog, Digital

ในการส่งสาร จะต้องกำหนดเวลา เพื่อให้ผู้รับสาร มีโอกาสในการรับ เวลา หมายถึง จำนวนเวลา (วินาที, นาที, ชั่วโมง) และระยะเวลา (Time หรือ ครั้ง) โอกาส หมายถึง ช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีที่ผู้รับสาร สามารถรับรู้ถึงสาร การสื่อสารจะสำเร็จสมบูรณ์ ต่อเมื่อผู้ส่งสารรับทราบถึงปฏิกิริยาของผู้รับสาร หลังจากรับสารนั้นแล้ว

 

การจำแนกสารตามคุณสมบัติทางกายภาพ

การจำแนกสาร

วจนสาร หมายถึง สารที่แทนด้วย
คำพูด หรือการเขียน

อวจนสาร โดยทั่วไป หมายถึง สารที่แทนด้วยสัญลักษณ์อื่นที่มิใช่คำพูด

1. รูปธรรม
(Object, Tangibles)

Word, Speech, Talk about

Image, Picture, Animation, Multimedia

2. นามธรรม
(Subject, Intangilbles)

ความหมาย
–Direct Meaning
–Indirect Meaning

ทัศนสาร
ภาษาท่าทาง

3. เครื่องมือดำเนินการ (Implement)

Listening, Talking, Reading, Writing,

Seeing, Thinking

4. ผลที่เกิดขึ้น
(Result)

1. ยอมรับ (Acceptation)

2. ตัดสินใจ (Decision)

3. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior) ชั่วคราว / ถาวร

5. วัตถุประสงค์
ทางคุณธรรม
(สุขภาวะทางจิตวิญญาณ)

1. วิเคราะห์สาร เลือกสิ่งที่มีผลเป็นบวก (เชิงคุณธรรม) แล้วยอมรับ

2. ตัดสินใจในการรับสารนั้น ตามหลักนิยามความจริง 7 ประการ*

3. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตามระดับความเชื่อ
-เชื่อฟัง เชื่อถือ (เลื่อมใส) เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ
ชั่วคราว
-เชื่อมั่น (ศรัทธา) เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร

 

หลักนิยามคามความจริง 7 ประการ หมายถึงหลักแห่งการตัดสินใจกระทำการ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยองค์ประกอบหลัก 7 ประการ คือ “ดี, ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, ทำให้พ้นทุกข์ได้ หรือแก้ปัญหาได้, มีความเป็นไปได้, รู้ได้สัมผัสได้จากรูปธรรมและนามธรรม, และท้าทายให้มาพิสูจน์ได้” (สมณะโพธิรักษ์: 2540)

ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจพื้นฐานการสื่อสารได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ว่าสื่อทุกประเภท จะมีคุณสมบัติในความเป็นกลาง (อัพยากฤตธรรม) โดยกายภาพ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ จะนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์ หรือทางทำลาย ดุจเดียวกับ “ศาสตร” หรือ ศาสตร์ ที่อาจถูกนำไปใช้เพื่อสร้างสันติภาพก็ได้ หรือนำไปเพื่อแสวงผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ด้วย

หากผู้มีอำนาจครอบครองสื่อ ไม่มีฐานทางคุณธรรม ก็จะใช้สื่อเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสังคมโดยส่วนรวมมากน้อย ขึ้นอยู่กับความสำนึกดีชั่วของแต่ละบุคคล ในปัจจุบัน สื่อที่มีบทบาท และมีอิทธิพลต่อมนุษย์ จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสนองความต้องการ ของผู้ครอบครองสื่อ (ผู้ส่งสาร หรือผู้มีอำนาจในการกำหนดสาร) โดยไร้การควบคุม จนปล่อยให้ปัญหาความไร้มโนธรรมในการใช้สื่อเกิดลุกลามจนยากจะแก้ไข

ข้าพเจ้าคิดว่า การกำหนดคุณสมบัติใหม่ให้กับสื่อ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสำนึกในการใช้สื่อเพื่อสันติภาพ ในที่นี้ข้าพเจ้าขอเรียกว่า การสื่อสารเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณ (การสื่อสารบุญนิยม)

(หน้าต่อไป...........)